Element of Web Layout บ้านศิลไทย

การตั้งและการเก็บรักษาหัวโขน

หัวโขน สำหรับใช้สวมใส่ศีรษะในการแสดงโขนนั้น เป็นการแสดงออก ทางด้านความสำคัญของตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ มีความประณีตสวยงาม ตามแบบฉบับของช่างทำหัวโขน ที่สามารถสร้างสรรค์หัวโขน ให้มีลักษณะและรูปลักษณ์ที่สื่อถึงเพศ เผ่าพงศ์วงศ์ชาติเชื้อ หรือแม้แต่การแสดงออกด้วยอารมณ์ทางสีหน้า บางหัวสร้างขึ้นเพื่อ เป็นการชี้บ่งบุคลิกลักษณะเฉพาะของตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ บางหัวถูกสร้างขึ้น ให้เปรียบเสมือนศีรษะของเทพ ผู้เป็นที่เคารพนับถือ กราบไหว้บูชา เช่น หัวโขนพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนตร เป็นต้น ทำให้ได้รับการยกย่องเป็นของสูงและมงคลวัตถุ มีศักดิ์และความสำคัญเหนือกว่าหัวโขนปกติธรรมดาทั่วไป


หัวโขน เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางด้านศิลปะ ที่มีเอกลักษณ์และทรงคุณค่าของไทย เป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษา ให้คงอยู่ในสภาพดีตลอดเวลา ทะนุถนอม ไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ด้วยการเก็บรักษาไว้ใน "ลุ้ง" ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใช้เก็บรักษาหัวโขนโดยเฉพาะ ทั้งก่อนและหลังแสดง แต่เดิมทำด้วยเครื่องจักสาน ลงรัก น้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายได้สะดวก ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำด้วยสังกะสีแทน ลักษณะรูปทรงกระบอกสั้น ประกอบด้วยตัวลุ้งสำหรับใส่หัวโขนและฝาครอบ กึ่งกลางของลุ้งจะเป็นที่ตั้งทวนหรือหลักเตี้ย ลักษณะเป็นแป้นกลม ใช้สำหรับรองรับหัวโขน หรือมงกุฎ ชฎา


ลุ้ง แบ่งออกเป็นสองชนิด คือ ลุ้งสำหรับเก็บหัวโขน มีมงกุฎทรงยอดเช่น พญาทูษณ์ มัยราพณ์ พญาขร สัทธาสูร วิรุญจำบัง บรรลัยจักร พิเภก ชิวหา กุเวรนุราช เปาวนาสูร บรรลัยกัลป์ วันยุวิก รามสูร ทศคีรีวัน ทศคีรีธร ทัพนาสูร สวาหุ มารีศ ตรีเมฆ มังกรกัณฐ์ ทศกัณฐ์ ลักษณะของลุ้งชนิดนี้จะเป็นฝารูปกรวยกลมทรงสูงหรือเตี้ย ขึ้นอยู่กับความสูงของมงกุฎ เพื่อให้มีที่ว่างพอสำหรับความสูงของมงกุฎ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายเมื่อปิดฝาลุ้ง และ ลุ้งสำหรับเก็บหัวโขนไม่มีมงกุฎหรือ หัวโล้น ที่ฝาครอบมีลักษณะตัดตรงเช่น พาลี สุครีพ หนุมสน ชมพูพาน ชามพูวราช องคต นิลพัท นิลนนท์ เป็นต้น

ทวน ขาตั้งหัวโขน การดูแลรักษา หัวโขน

อ่านเครื่องแต่งกายของตัวละครในการแสดงโขนหน้าถัดไป


บ้านศิลปะไทย Bottom Horizontal Line